Print
Category: บทความไอที

ในขณะที่ผมเขียนบทความนี้กำลังทำวิจัยอยู่ที่ University of Yamanashi ประเทศญี่ปุ่น แล้วต้องการอ่านเรื่องเต็มบทความวิชาการหรือภาษานักวิชาการเรียกว่า "เปเปอร์" นั่นเอง ซึ่งแต่ละวารสารหรือฐานข้อมูลที่รวบรวมเปเปอร์ให้นักวิชาการอ่านนั้น ก็จะมีการคิดเงินในการเข้าถึงเรื่องเต็มของบทความครับ ราคาก็แตกต่างกันไป ปกตินักวิชาการก็ไม่จ่ายเงินซื้อเองครับถ้าไม่จำเป็นจริงๆ แต่จะเป็นมหาวิทยาลัยที่จ่ายเงินซื้อ ถ้ามหาวิทยาลัยของเราไม่ได้จ่ายเงิน ก็จะอ่านได้เฉพาะบทคัดย่อเท่านั้น

สำหรับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยจะเข้าร่วม "เครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา" หรือ UniNet ซึ่งจะสามารถใช้ฐานข้อมูลร่วมกันเป็นพื้นฐานระดับหนึ่งอยู่แล้ว ส่วนมหาวิทยาลัยไหนจะซื้อฐานข้อมูลหรือสมัครรายวารสาร ก็ตามแต่กำลังเงินและความเฉพาะทางในศาสตร์ที่ตนสนใจครับ 

ตัวอย่างผมต้องการอ่านเปเปอร์นี้ครับ (ภาพ 1) เข้าไปที่หน้าเวปไซต์ของวารสาร Annual Review of Microbiology แล้วตรงแถบขวาบนจะเห็นว่ามีชื่อมหาวิทยาลัย University of Yamanashi ขึ้นนั่นคือผมใช้อินเทอร์เน็ตของมหาวิทยาลัยนี้เข้า แต่พอกดตรง "Full Text HTML" หรือ "Download PDF" ก็จะขึ้นหน้านี้มาครับ (ภาพ 2) แสดงว่ามหาวิทยาลัยนี้ไม่ได้ซื้อวารสารนี้ หากต้องการอ่านเฉพาะเปเปอร์นี้ก็ต้องจ่ายเงินราวหนึ่งพันบาทเลยทีเดียว

  

ภาพ 1 ตัวอย่างหน้าเวปไซต์บทความบนวารสารที่ต้องการอ่านเรื่องเต็มแม้ว่าจะแสดงชื่อสถาบันที่ใช้อินเทอร์เน็ตในการเข้าถึง แต่ถ้าสถาบันไม่ได้บอกรับสมาชิกหรือจ่ายเงินก็ไม่สามารถอ่านเรื่องเต็มได้

 

ภาพ 2 แสดงราคาที่ต้องจ่ายเพื่ออ่านทั้งเล่มหรือเลือกจ่ายเฉพาะบทความ

ทีนี้ก็ต้องเช็คดูครับว่ามหาวิทยาลัยต้นสังกัดเรานั้นได้สมัครสมาชิกสารสารนี้หรือป่าว ถ้ามหาวิทยาลัยได้จ่ายเงินซื้อแล้วเราจะจ่ายเองทำไมละครับ ทีนี้ก็ต้องหาวิธีดาวน์โหลดเปเปอร์นี้ วิธีการแรกกดลิงค์ส่งให้เพื่อนทางอีเมลล์หรือแชทต่างๆ ตามสะดวก วิธีที่สองใช้เครือข่ายเสมือนส่วนตัวหรือการตั้ง proxy ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยต้นสังกัดเรา วิธีนี้เหมาะกับคนที่เกรงใจเพื่อนหรือเป็นคนเพื่อนน้อยแบบผม รวมทั้งตอนที่ต้องการอ่านเปเปอร์นี้ด่วนมากๆ เพื่อนเราเค้าก็อาจจะนอนหลับกันอยู่เพราะเวลาไม่ตรงกัน ก็ช่วยตัวเองดีกว่าครับ

บริการฐานข้อมูลที่นักศึกษาและบุคลากรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีสามารถใช้งานได้ตรวจสอบได้ทีนี่ครับ http://arit.sru.ac.th/service/db-online.html แต่วารสารนี้ไม่มีแน่นอนครับ ดังนั้นผมจะใช้สิทธิ์นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็แล้วกัน ก็ต้องไปที่ https://network.cmu.ac.th/wiki/index.php/CMU_OpenVPN ซึ่งทางสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดทำขั้นตอนและวิธีการไว้อย่างละเอียดทีเดียว

สำหรับ มช. นั้นใช้ "เครือข่ายส่วนตัวเสมือน" หรือ VPN (virtual private network) ในการเชื่อมทำกับเครือข่ายภายในมหาวิทยาลัยจากภายนอกครับ โดย VPN เป็นการใช้เทคนิคที่เรียกว่า tunneling ซึ่งเป็นการจำลองเครือข่ายส่วนตัวให้เราเข้าถึงเครือข่ายองค์กรหรือมหาวิทยาลัยได้ แม้ว่าเราจะอยู่ภายนอกองค์กรนั่นเอง บางคนน่าจะรู้จัก VPN จากการใช้ดูเนื้อหาต้องห้ามหรือเนื้อหาที่มีการจำกัดการรับชมในบางประเทศ 

โดยหลักการคือผมใช้อินเทอร์เน็ตที่ประเทศญี่ปุ่น (อินเทอร์เน็ตภายในหรือนอก University of Yamanashi ก็ได้) แล้วผมได้จำลองท่อส่วนตัว (ประมาณท่อประปาเลย) เข้ารหัสข้อมูลส่งไปที่เครือข่ายอินเทอร์เน็ต มช. เสมือนว่ากำลังใช้เน็ต มช. ในการเข้าเวปไซต์วารสาร Annual Review of Microbiology ดังนั้นไม่ว่าผมจะอยู่ในประเทศหรือต่างประเทศหรืออยู่ส่วนไหนของโลก ขอแค่มีอินเทอร์เน็ตผมก็สามารถเข้าถึงฐานข้อมูล มช. ได้ครับ (ถ้ายังจ่ายค่าเทอมอยู่นะ เรียนจบแล้วหมดสิทธิ์) รู้สึกคุ้มค่าเทอมที่จ่ายไปบ้างแล้ว

อย่างไรก็ตาม การใช้งาน VPN จะใช้เฉพาะเมื่อต้องการใช้ฐานข้อมูลต่างๆ ที่ให้บริการเฉพาะในเครือข่ายมหาวิทยาลัยเท่านั้นเมื่อใช้เสร็จแล้วก็ต้องตัดการเชื่อมต่อ เพื่อไม่เป็นภาระกับเซิร์ฟเวอร์ VPN ครับ ถัดมาก็มาดูผลการเชื่อมต่อครับว่าเป็นอย่างไร เมื่อทำการเชื่อมต่อ VPN แล้ว กด F5 หน้าบทความนั้นที่ต้องการอ่าน จะเห็นว่าตรง Access Provided by University of Yamanashi เปลี่ยนเป็น Access Provided by Chiang Mai University แล้วแสดงว่าเราเข้าถึงวารสารนี้ด้วยเครือข่าย มช. เรียบร้อยแล้ว ส่วนคำว่า Choose Your Access Option สีส้ม หรือเลือกช่องทางการเข้าถึงบทความก็หายไปเช่นกัน เพราะเราเข้าถึงบทความได้แล้ว (ภาพ 3)

ภาพ 3 เวปไซต์หน้าบทความหลังการเชื่อมต่อ VPN ไปที่ มช. 

เมื่อทำการกด "Download PDF" ก็พบว่าได้ไฟล์ PDF มาเรียบร้อย (ภาพที่ 4) บันทึกไฟล์ไปอ่านได้ตามสะดวก โดยตรงแถบขอบกระดาษด้านซ้ายมีตัวหนังสือแนวตั้งแสดงถึงข้อมูลที่จะประทับบนไฟล์ว่าไฟล์ PDF นี้ดาวน์โหลดมาเมื่อไหร่ จากที่ไหน เพื่อป้องกันการนำไปเผยแพร่ต่อนั่นเอง ซึ่งก็แสดงข้อมูลว่าดาวน์โหลดมาจาก Chiang Mai University

ภาพ 4 แสดงหน้าไฟล์ PDF ของเปเปอร์ เมื่อสามารถเข้าถึงวารสารฉบับเต็มได้ โดยสามารถบันทึกไฟล์เก็บไว้อ่านได้