นักวิจัยจาก Jame Cook University ทดลองการรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อจากแบคทีเรียในเต่าตนุด้วย phage therapy ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรก ซึ่งทำให้วิจัยการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียด้วย phage นั้นขยับก้าวไปอีกขั้น สร้างความหวังที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับสัตว์อื่นรวมทั้งมนุษย์ให้ใกล้เข้ามาอีก
phage therapy เป็นการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียด้วยไวรัส ซึ่งไวรัสที่สามารถ infect แบคทีเรียได้นั้นจะเรียกชื่ออย่างจำเพาะว่า bacteriophage หรือเรียกสั้นๆ ว่า phage สำหรับแนวทาง phage therapy นี้เป็นวิธีการหนึ่งที่ได้รับความสนใจในทางการแพทย์มานานแล้ว เนื่องจากการใช้ยาปฏิชีวนะการฆ่าแบคทีเรียก่อโรคนั้นทำให้เกิดปัญหาการดื้อยาได้
สำหรับเต่าตนุหรือ green turtle (Chelonia mydas) นั้นเป็นเต่าที่กินหญ้าทะเลหรือสาหร่ายทะเลเป็นอาหาร ดังนั้นจึงมีกลุ่มแบคทีเรียกลุ่มที่อาศัยอยู่ในทางเดินอาหารบริเวณ hindgut จำนวนมาก ซึ่งการดำรงชีวิตของแบคทีเรียเหล่านี้จะเป็นแบบไม่ใช้อากาศ ดังนั้นกระบวนการหมัก (fermentation) ของแบคทีเรียเหล่านี้จะทำให้เต่าได้รับสารอาหารตามไปด้วย แบคทีเรียกลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มที่มีประโยชน์
เมื่อเต่าเกิดโรคจากการติดเชื้อแบคทีเรีย การรักษาโรคมักจะใช้ยาปฏิชีวนะแบบออกฤทธิ์ในวงกว้าง (broad spectrum antibiotic) ซึ่งอาจทำให้ยาปฏิชีวนะเหล่านั้นฆ่าแบคทีเรียกลุ่มมีประโยชน์ไปด้วย จึ่งส่งผลให้เต่ามีสุขภาพแย่ลงไปอีก รวมทั้งยังอาจก่อให้เกิดปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะของแบคทีเรียก่อโรคได้ด้วย
จากการทดลองของนักวิจัยได้ใช้ bacteriophage ในการรักษาเต่าติดเชื้อแบคทีเรีย พบว่าประสบความสำเร็จในการฆ่าแบคทีเรียก่อโรคโดยไม่มีผลกระทบต่อแบคทีเรียกลุ่มมีประโยชน์ จากการหาลำดับนิวคลีโอไทด์บริเวณ V1-V3 ยีน 16sRNA ของแบคทีเรียในมูลเต่าเพื่อการระบุชนิดของแบคทีเรียในแต่ละ treatment หรือชุดการทดลอง พบว่า
- ในชุดทดลองที่ใช้ phage รักษาเต่านั้นแบคทีเรีย Acinetobacter ซึ่งเป็นเป้าหมายของ phage นั้นลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับชุดควบคุม (ไม่ใช้ phage) ซึ่งแสดงว่า phage ไปฆ่าแบคทีเรียก่อโรคได้
- ความหลากหลายหรือชนิดของแบคทีเรียระหว่างชุดทดลองที่ใช้กับไม่ใช้ phage ในการรักษาเต่า ไม่มีแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งแสดงว่า phage ไม่ได้ไปกำจัดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มมีประโยชน์
- ความหลากหลายของแบคทีเรียในชุดที่ใช้ยาปฏิชีวนะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แสดงว่ายาปฏิชีวนะ (ในการทดลองใช้ยา enrofloxacin) ไปฆ่าแบคทีเรียกลุ่มมีประโยชน์ โดยเป็นที่น่าสังเกตว่ามีแบคทีเรียบางกลุ่มเพิ่มขึ้น (gram-positive Firmicutes) บางกลุ่มลดลง (gram-nagative Bacteroidetes, Proteobacteria, Verrucomicrobia) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับไฟลัม
ภาพประกอบ : http://turtlehealthresearch.org/
บทความฉบับเต็ม : Ahasan, M. S., Kinobe, R. , Elliott, L. , Owens, L. , Scott, J. , Picard, J. , Huerlimann, R. and Ariel, E. (2019), Bacteriophage versus antibiotic therapy on gut bacterial communities of juvenile green turtle, Chelonia mydas. Environ Microbiol.