นักวิจัยเยอรมนีผสมพันธุ์ข้าวบาร์เลย์สายพันธุ์ทั่วไปกับข้าวบาร์เลย์ป่าแล้วนำไปลูกในพื้นที่กันดาร พบว่าได้สายพันธุ์ที่ข้าวบาร์เลย์ที่ทนต่อสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมได้ดีอีกทั้งยังให้ผลผลิตสูงกว่าสายพันธุ์ท้องถิ่นด้วย

ข้าว ข้าวบาร์เลย์ และข้าวสาลีเป็นธัญพืชที่มีความสำคัญต่อโภชนาการของมนุษย์ ความต้องการอาหารของมนุษย์เพิ่มขึ้นทุกวันจำเป็นที่ต้องสร้างผลผลิตพืชอาหารให้มีความมั่นคง อย่างไรก็ตามปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) กำลังส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกทั่วโลก และพืชจำเป็นต้องได้รับน้ำบ่อยมากขึ้น ศาสตราจารย์ Klaus Pillen แห่ง Martin Luther University Halle-Wittenberg (MLU) เยอรมนี และทีมจึงได้มุ่งวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชอาหารมาหลายปี

ล่าสุดทีมวิจัยได้ตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสาร Scientific Reports ซึ่งได้ทำการผสมข้าวบาร์เลย์สายพันธุ์ต่างๆ กับข้าวบาร์เลย์ป่า 25 สายพันธุ์ และได้ 48 สายพันธุ์ที่มีความแตกต่างกัน จากนั้นได้นำไปปลูกในพื้นที่ซึ่งแตกต่างกันทางภูมิศาสตร์ตามพื้นที่ต่างๆ ของโลกได้แก่ Dundee (สหราชอาณาจักร), Halle (เยอรมนี), Al Karak (จอร์แดน), Dubai (สหรัฐอาหรับเอมิเรต) และ Adelaide (ออสเตรเลีย)

แต่ละพื้นที่ปลูกมีความแตกต่างกันในด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมหรือมีความเครียด เช่น สภาวะแห้งแล้ง อุณหภูมิสูง ดินมีความเค็ม ดินขาดไนโตรเจน ตลอดระยะเวลาการเพาะปลูกนักวิจัยสังเกตว่าพืชที่นำไปปลูกเจริญเติบโตได้ดีเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ท้องถิ่น จึงได้คัดเลือกพืชดังกล่าวไปศึกษาทางพันธุกรรมอย่างละเอียด ทำให้ทราบถึงยีนที่เกี่ยวข้อง

timing หรือช่วงเวลาในการเจริญเติบโตของพืชนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เช่น เวลาที่พืชได้รับแสงในแต่ละวันซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ตามละติจูด หรือฤดูกาลในแต่ละพื้นที่ก็เช่นกัน การทราบว่าสายพันธุ์ต่างๆ มีการผันแปรของยีนเพื่อให้อยู่ในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์แตกต่างกันมีประโยชน์อย่างยิ่ง โดยแม้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมแต่ข้าวบาร์เลย์ที่ปลูกในเยอรมรีก็ให้ผลผลิตสูงกว่าสายพันธุ์ท้องถิ่นถึงร้อยละ 20 ซึ่งนักวิจัยจะตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกของข้อมูลทางพันธุกรรมต่อไป

ภาพ-แหล่งข่าว : Martin Luther University Halle-Wittenberg

บทความวิจัย : https://www.nature.com/articles/s41598-019-42673-1