จุลินทรีย์ที่อาศัยบนผิวพืชมีส่วนช่วยในการทำงานของพืชรวมทั้งทำให้พืชมีสุขภาพดีด้วย แต่นักวิทยาศาสตร์สงสัยมานานแล้วว่าแบคทีเรียอยู่รอดได้อย่างไรบนผิวใบพืชที่แห้งเพราะแสงแดดในตอนกลางวัน

เพื่อตอบคำถามนี้ นักวิจัยจาก Hebrew University ได้สร้างลักษณะคล้ายผิวใบไม้ในห้องปฏิบัติการโดยใช้แผ่นกระจกให้สัมผัสกับความชื้นในระดับต่างๆ จากนั้นก็ทำการใส่เชื้อแบคทีเรียที่แตกต่างกันกว่า 12 ชนิดลงไปบนพื้นผิวจำลองนั้น ผลการทดลองพบว่าพื้นผิวเหล่านี้เมื่อมองดูด้วยตาเปล่าจะดูว่าแห้ง แต่เมื่อตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์ กลับพบว่าพื้นผิวเหล่านั้นไม่ได้แห้งแต่อย่างใด โดยพบว่ามีหยดน้ำขนาดเล็กระดับไมโครเมตร (microdroplet) ช่วยปกป้องเซลล์แบคทีเรียให้ปลอดภัย หยดน้ำขนาดเล็กที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่านี้เกิดขึ้นจากกระบวนการที่เรียกว่า deliquescence

ที่น่าสนใจคือถ้าเซลล์แบคทีเรียอยู่รวมเป็นกลุ่มหลายๆ เซลล์ (aggregate) หยดน้ำจะมีขนาดใหญ่ขึ้น ขณะที่เซลล์แบคทีเรียที่้อยู่เดี่ยวๆ หยดน้ำจะมีขนาดเล็ก ยิ่งหยดน้ำมีขนาดใหญ่ขึ้นเซลล์แบคทีเรียก็ยิ่งมีอัตราการรอดชีวิตสูงขึ้นเช่นกัน โดยเซลล์แบคทีเรียสามารถรอดชีวิตได้นานเกิน 24 ชั่วโมง ดังนั้นปัจจัยที่มีผลต่อการอยู่รอดของแบคทีเรียบนผิวใบไม้คือการเกิดหยด microdroplet และการสร้าง aggregate นั่นเอง

บทความวิจัย : Maor Grinberg et al, Bacterial survival in microscopic surface wetness, eLife (2019). DOI: 10.7554/eLife.48508